1. ที่ดินที่จะปลูกสร้างอยู่ในเขตสีอะไร
ทำไมต้องรู้ เพราะสีของที่ดินจะบ่งบอกถึงสิ่งปลูกสร้างที่เราจะสามารถสร้างได้ เช่นต้องการสร้างโรงงานก็ต้องสร้างในเขตสีม่วงซึ่งเปนเขตอุตสาหกรรม (สีไหนสร้างไรได้บ้าง อยู่ในบทความ”สีของที่ดิน”) หากเราสร้างในสิ่งที่เขตสีที่ดินไม่เอื้อให้สร้าง การขออนุญาตก็จะไม่ผ่านนะจ้ะ
2. เมื่อรู้ว่าที่ดินเราสร้างอะไรได้บ้างแล้ว ขั้นตอนต่อไปคงหนีไม่พ้นการออกแบบ
แล้วเราจะรู้ได้ไงว่าผู้ออกแบบคนไหนที่จะออกแบบได้ถูกใจเรา หรือออกแบบแล้วสามารถขออนุญาตก่อสร้างได้ผ่าน เบื้องต้นก็อยากแนะนำให้ดูโปรไฟล์แนวทางการออกแบบของแต่ละผู้ออกแบบ เราชอบแนวไหนก็เลือกได้เลยครับ ถัดไปคือลองคุยดูเกี่ยวกับข้อจำกัดของการออกแบบ เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีข้อจำกัดที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายต่างๆ (ดูบทความกฎหมายเบื้องต้นของการออกแบบ)
3. เมื่อได้ผู้ออกแบบแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คงหนีไม่พ้นการออกแบบ
ทำไมถึงต้องมีแบบ เพราะแบบคือเอกสารที่เป็นตัวแทนที่ชัดเจนระหว่างผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างว่าสิ่งปลูกสร้างของเราต้องมีอะไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น โครงสร้างต้องใส่เหล็กอะไรบ้าง หรือพื้นตกแต่งด้วยวัสดุอะไร
ดังนั้น แบบจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่องานก่อสร้าง หากไม่อยากต้องทะเลาะกับผู้รับจ้างในภายหลังนะครับ ไม่ว่างานจะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม
4. หลังจากแบบแล้วเสร็จ ก็ต้องขออนุญาตก่อสร้างนะครับ
แล้วต้องเตรียมเอกสารอะไรที่ใช้ในการขอบ้างหละ ต้องแยกเป็นสองส่วน ส่วนแรกมาจากผู้ออกแบบ ได้แก่ แบบมาตรฐาน จำนวนอย่างน้อย 2-3 ชุด (ขึ้นอยุกับหน่วยงานที่ยื่น) รายการคำนวณ แบบผังบริเวณ แบบผังโฉนด เอกสารผู้ควบคุมงานของสถาปนิก (ขึ้นอยู่กับประเภทของโครงสร้าง) เอกสารผู้ควบคุมงานของวิศวกรโครงสร้าง พร้อมลายเซ็นวิศวกรและสถาปนิกทั้งหมด ส่วนที่สองมาจากเจ้าของโครงการ ได้แก่ สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาโฉนด เอกสารมอบสิทธิการใช้พื้นที่ (กรณีไม่ได้สร้างสิ่งปลูกสร้างในที่ดินตนเอง หนังสือมอบอำนาจต่างๆ (กรณีไม่ได้ทำธุระกรรมด้วยตนเอง)
5. มาถึงขั้นตอนการเลือกผู้รับเหมา
หลายท่านน่าจะกังวลเรื่องนี้ที่สุดว่าจะเลือกยังไงดี เพราะใจก็กลัวว่าจะได้ผู้รับเหมาไม่ดี ทิ้งงาน ในบทความนี้จะขอแนะนำวิธีการคัดเลือกผู้รับเหมาคร่าวๆ ดังนี้
ประการแรก ลองเข้าไปดูงบการเงินของบริษัทรับเหมา (ดูวิธีการอ่านงบการเงินในบทความการอ่านงบการเงินเพื่อเลือกผู้รับเหมา) งบการเงินอาจไม่ใช่สิ่งที่ช่วยตัดสินได้ 100% นะครับ แต่สามารถเป็นเครื่องมือช่วยให้เรามั่นใจได้ว่า บริษัทเค้ามีพัฒนาการหรือปัญหาใดๆหรือไม่ บริษัทที่มีงบการเงินที่ดี ก็มีเปอร์เซ็นสูงที่เกิดจากการบริหารที่ดี
ประการที่สอง ดูผลงานที่บริษัททำงานอยุ เบื้องต้น งานก่อสร้างต้องมีอาจารย์ 3 ท่านก็คือ
- ระดับ
- ดิ่ง
- ฉาก
ดังนั้นการไปดูผลงานของบริษัทให้ลองดูว่าโครงสร้างเค้ามีอาจารย์สามท่านนี้มั้ย ถ้ามีก็อุ่นใจได้ 80% เลยว่างานจะออกมาค่อนข้างดี
ประการที่สาม ความรู้และความเอาใจใส่ในรายละเอียดของทีมงานหรือเจ้าของบริษัท อันนี้สำคัญมากๆ หรือมากที่สุดใน 3 ข้อนี้เลยก็ว่าได้ ยิ่งรู้เยอะ ยิ่งเอาใจใส่เยอะ ข้อผิดพลาดในการก่อสร้างก็จะยิ่งน้อย
ประการสุดท้าย ที่ทุกคนคงไม่พลาดก็คือราคาครับ แนะนำให้ดูราคาที่เหมาะสมที่สุดครับ ไม่น้อยไป ไม่เยอะไป เพราะยังไงคนทำธุรกิจก็ต้องมีกำไรนะครับ
6. พอได้ผู้รับเหมาแล้ว ก็แนะนำว่าควรทำสัญญาด้วยนะครับ
สัญญาควรประกอบด้วยอะไรบ้าง เพื่อให้เป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย
6.1 ชื่อที่อยู่ที่ชัดเจนของทั้งผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง
6.2 สถานที่ตำแหน่งที่ก่อสร้าง
6.3 วันที่เริ่มสัญญา ระยะเวลาของสัญญา
6.4 มูลค่าของสัญญา และงวดงานที่ชัดเจน
6.5 เอกสารประกอบการทำสัญญา อาทิเช่นแบบที่ใช้ประกอบการทำสัญญา
6.6 เงื่อนไขการยกเลิกสัญญา
ทั้งหมดเป็นเพียงหลักใหญ่ๆเท่านั้น ส่วนรายละเอียดปลีกย่อย โปรดติดตามในบทความถัดๆไปนะครับ
เมื่อได้สัญญาครบถ้วนแล้วก็ลุยกันได้เลยครับ